วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2550

การแปลและการเซ็นเซอร์ในยุโรป

Translation and Censorship in European Environments
การแปลและการเซ็นเซอร์ในยุโรป
Antonia Keratsa เขียน ชำนาญ ยานะ เรียบเรียง
Translation Journal Volume 9, No. 3 July 2005

บทความชิ้นนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาการแปลภายใต้ระบบการเซ็นเซอร์ เป็นการสำรวจกลไกการจัดการกับต้นฉบับ ทั้งดัดแปลงบิดเบือนหรือกำจัดเนื้อหาต้นฉบับ เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง ในประวัติศาสตร์ของยุโรป การเซ็นเซอร์งานแปลถูกนำมาอ้างว่าเป็นเครื่องมือในการปกป้องวัฒนธรรมของชาติจากอิทธิพลต่างชาติ ขณะเดียวกันก็เชิดชูอุดมการณ์ชาตินิยมของชนชั้นนำในประเทศนั้น เนื้อหาในบทความนี้มุ่งสำรวจและตรวจสอบอุตสาหกรรมการแปลในสามประเทศได้แก่

1. อิตาลีภายใต้ระบอบฟาสซิสต์
2. เยอรมันภายใต้ระบอบนาซี
3. สเปนภายใต้การนำของนายพลฟรังโก
………………………………

1. การแปลและการเซ็นเซอร์ในอิตาลีใต้ระบอบฟาสซิสต์
Translation and Censorship in Fascist Italy

รัฐบาลอิตาลีของนายกรัฐมนตรี เบนิโต มุสโสลินี ต้องการให้ประชาชนหลงใหลระบอบการปกครองแบบฟาสซิสต์ เพื่อนำไปสู่การสถาปนาอุดมการณ์ฟาสซิสต์ให้มั่นคงในสังคมอิตาลี มุสโสลินีต้องการให้ประชาชนเชื่อว่า ตนเองกำลังนำพาประเทศไปพบกับความสำเร็จ สู่ความมีอารยธรรมที่รุ่งเรือง และเหตุผลอีกประการหนึ่งคือ รัฐบาลมุสโสลินีต้องการปกป้องตนเองจากคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับพฤติกรรมเผด็จการ ดังนั้นรัฐบาลจึงควบคุมการสื่อสารทุกประเภทเช่น วิทยุ ภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์ สำนักพิมพ์และหนังสือ


ช่วงทศวรรษที่ 1920 ยังไม่มีการเซ็นเซอร์จากส่วนกลาง ไม่มีการแยกวรรณกรรมอิตาเลียนจากวรรณกรรมต่างประเทศ กฎเกณฑ์ควบคุมการแปลยังไม่มีบัญญัติ ช่วงทศวรรษที่ 1930 อิตาลีตีพิมพ์งานแปลมากกว่าประเทศใดๆในยุโรป ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานจากอังกฤษและอเมริกา ต่อมารัฐบาลไม่ต้องการให้อิตาลีรับอิทธิพลจากต่างชาติมากเกินไป เพราะนั่นสะท้อนถึงความล้มเหลวของการปฏิวัติชาติสู่ระบอบฟาสซิสต์ เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ จึงได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมออกกฎหมายควบคุมงานแปล

สำนักพิมพ์ถูกบังคับให้แจ้งและขออนุญาตก่อนพิมพ์งานแปลหนังสือต่างประเทศ งานแปลจำพวกบันเทิงถูกจำกัด บางครั้งก็ถูกเซ็นเซอร์ตามคำสั่งรัฐบาล สำนักพิมพ์จำใจต้องเซ็นเซอร์ตัวเองก่อนตีพิมพ์หนังสือ เนื่องจากการห้ามจำหน่ายหลังตีพิมพ์อาจทำให้สูญเสียเงินจำนวนมหาศาล จนอาจทำให้บริษัทล้มละลายได้

งานแปลชื่อ Americana เป็นหนังสือชุดสองเล่ม รวมงานประพันธ์ที่นักเขียนอิตาเลียนร่วมสมัยหลายท่านร่วมกันแปล ได้ถูกห้ามตีพิมพ์ถึงสองครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลอยากแสดงให้ว่าไม่ต้องการเป็นมิตรกับอเมริกา ไม่เว้นแม้แต่กับวรรณกรรม แต่ในที่สุดรัฐบาลก็ตัดสินใจอนุญาตให้ตีพิมพ์ กระนั้นก็ตามหลายส่วนของหนังสือเล่มนี้ถูกตัดออกให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ของรัฐบาล

เห็นได้ชัดว่า ยุทธการรวมทั้งมาตรการลงโทษขั้นรุนแรงของมุสโสลินี มีจุดประสงค์เพื่อรวบอำนาจมาไว้กับรัฐบาล เชิดชูค่านิยมแบบฟาสซิสต์และแยกวัฒนธรรมอิตาเลียนให้พ้นอิทธิพลต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ชาวอิตาเลียนรู้สึกชื่นชอบวัฒนธรรมต่างชาติ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถสร้างระบบเซนเซอร์ที่มีประสิทธิภาพ มาต่อต้านการรุกรานของวัฒนธรรมต่างชาติและจัดการอุตสาหกรรมการแปลได้

2. การแปลและการเซ็นเซอร์ในเยอรมนียุครัฐบาลนาซี
Translation and Censorship in Nazi Germany

ในรัฐบาลพรรคนาซีของอดอร์ฟ ฮิตเลอร์ นักแปลถูกมองว่าเป็นศัตรูของวัฒนธรรมประจำชาติ วารสารของรัฐบาลนาซีระบุว่าการแปลเป็นภัยต่อความจริงและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมเยอรมัน อีกทั้งเป็นอันตรายต่อวัฒนธรรมที่พรรคนาซีสร้างขึ้น รัฐบาลจึงสั่งให้ต่อต้านการคุกคามของต่างชาติด้วยการส่งเสริมวรรณกรรมนาซี ห้ามสิ่งพิมพ์ใดๆที่ขัดแย้งกับอุดมการณ์นาซี ที่มุ่งเชิดชูจิตวิญญาณความเป็นเยอรมัน ด้านเชื้อชาติ ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ความเป็นผู้นำ แบบแผนความเป็นชาย/หญิง ความเป็นชนบทที่ตรงกันข้ามกับความเป็นเมืองซึ่งชั่วร้าย เป็นการปกป้องประชาชนเยอรมันจากอิทธิพลที่คุกคามจากต่างประเทศ

ช่วงทศวรรษที่ 1930 ยังไม่มีมาตรการควบคุมหนังสือและงานแปลอย่างเป็นกิจลักษณะ ทำให้ผลของการละเมิดเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ก่อให้เกิดความกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับสำนักพิมพ์ การเซ็นเซอร์ตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญในตอนนั้น เพราะสำนักพิมพ์ไม่อยากสูญเสียเงิน อันอาจเกิดการถูกสั่งห้ามจำหน่าย ภายหลังปี 1933 การควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานแปล ได้บัญญัติเป็นกฎหมาย การเซนเซอร์ก่อนตีพิมพ์เป็นไปอย่างจริงจัง การเซนเซอร์ดำเนินการโดยกระทรวงโฆษณาการของ ดร. พอล โจเซฟ เกิบเบิล และองค์กรตำรวจลับเกสตาโป การกระทำนี้ยากที่จะรู้ได้ เนื่องจาก “ทำก่อนการจำหน่ายหนังสือและก่อนนำหนังสือเข้าห้องสมุด”

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง งานแปลทั้งหมดจากประเทศศัตรูถูกเซ็นเซอร์อย่างหนัก รัฐบาลสร้างภาพว่าวัฒนธรรมต่างชาติต่ำต้อยและเป็นอันตรายต่อวัฒนธรรมประจำชาติ พรรคนาซีโฆษณาชวนเชื่อผ่านนิตยสารสายการเมืองของพรรคชื่อ Bucherkund ซึ่งตีพิมพ์รายเดือนตั้งแต่ปี 1934 ถึง 1944 มีการนำเสนอผลงานที่ “แนะนำ”และ”ไม่แนะนำ” ให้อ่าน ควบคู่กับบทวิจารณ์งานแปลซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ตลอดจนหัวข้ออื่นที่เกี่ยวกับวรรณกรรมร่วมสมัย ต่อมางานแปลทั้งสองภาษาถูกกำจัดออกไป คงเหลือเพียงงานแปลภาษาอื่นที่ ”เป็นมิตร”มากกว่า นอกจากนั้น งานแปลเป็นภาษาเยอรมันจะได้รับยกย่อง ถ้าแสดงความเป็นต่างชาติแต่เพียงน้อย และภาพลักษณ์วัฒนธรรมต่างชาติที่ถูกต้องต้องยึดตามที่พรรคนาซีกำหนดเท่านั้น

ตัวอย่างวรรณกรรมฝรั่งเศสและอังกฤษที่แปลเป็นภาษาเยอรมัน แต่ถูกสร้างภาพให้นำเสนอความต่ำต้อยในวัฒนธรรมต้นฉบับได้แก่ วรรณกรรมเรื่อง Minuit ของ Julien Green ในฉบับแปล มีการสร้างภาพชาวฝรั่งเศสให้เป็นคนจิตใจหยาบช้า ไม่ยึดถือหลักการใดๆทั้งสิ้น นอกจากนี้ วรรณกรรมเรื่อง "Autobiography of a Cad" ของ AG MacDonnell ได้ถูกนำมาแปลโดยสร้างภาพว่า ความจริงแล้ว ชาวอังกฤษเป็นพวกชนชั้นต่ำนิสัยชอบประจบประแจง
นอกจากจะควบคุมงานแปลแล้ว กิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการแปลและศิลปะก็ถูกเซ็นเซอร์และบิดเบือนด้วย ด้วยเหตุที่ชาวเยอรมันถือว่าการแสดงบนเวทีมักมีเรื่องการเมือง ศีลธรรมจรรยา รัฐบาลนาซีจึงตัดส่วนประกอบที่เห็นว่าเป็นวัฒนธรรมต่างชาติ เป็นอันตรายต่อการละครของประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมของรัฐบาลนาซีจึงเล่นบทจอมเซ็นเซอร์ ใช้อำนาจจัดการกำกับควบคุมบทละครต่างประเทศ ก่อนการนำขึ้นแสดงบนเวที

ในเยอรมันยุคนาซี การแปลถูกมองว่าเลวร้าย มีอันตราย ทำให้วัฒนธรรมในฉบับแปลแปดเปื้อนด้วยความเป็นต่างชาติ ดังนั้น งานแปลที่เห็นว่าขัดกับหลักการของประเทศจึงถูกแก้ไขและเซ็นเซอร์ นักแปลถูกเนรเทศและฆ่าตาย ส่วนสำนักพิมพ์ที่ดื้อแพ่งก็มักพบจุดจบ

3. การแปลและการเซนเซอร์ในสเปนยุคนายพลฟรังโก
Translation and Censorship in Franco's Spain

การเซ็นเซอร์วัฒนธรรมจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก เพราะถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบเผด็จการ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลของนายพลฟรังโก จะไม่สามารถควบคุมสังคมสเปนได้ เป้าหมายของนายพลฟรังโกคือรักษาอุดมการณ์การปกครองของตนเอง ขณะเดียวก็ต้องการแยกวัฒนสเปนออกจากอิทธิพลต่างชาติ มีหน่วยงานรัฐบาลสามหน่วยรับผิดชอบในเรื่องนี้

ผลงานศิลปะที่เห็นว่าเป็นภัยต่ออุดมการณ์ของรัฐ ขัดต่อศีลธรรมทางเพศ การเมือง ศาสนาและการใช้ภาษาจะถูกเซ็นเซอร์ ในกรณีของหนังสือ นอกจากจะต้องถูกรัฐบาลเซ็นเซอร์ก่อนตีพิมพ์แล้ว ก่อนหน้านั้นต้องผ่านกระบวนการเซ็นเซอร์ตัวเองของผู้แต่ง ผู้แปลและกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ผลงานที่เห็นว่ามีผลดีต่อสภาวะการทางการเมืองของสเปนเท่านั้นที่จะได้รับอนุญาต เมื่อเป็นเช่นนี้ นักเขียนสเปนหัวก้าวหน้าจึงต้องลี้ภัยเพราะปฏิเสธวิธีการของรัฐบาล

มีผลงานของผู้แต่งชาวต่างชาติเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์ได้ ผลงานของนักเขียนโด่งดังเหล่านั้นมีทั้งที่โดนแก้ไขงานหรือไม่ก็ถูกห้ามตีพิมพ์ กระทั่งมีผู้กล่าวไว้ว่า การแปลในสเปนหลังสงครามเป็นมากกว่าภารกิจด้านภาษา การแทรกแซงของรัฐบาลทำให้นักแปลแทบจะลืมทักษะการใช้ภาษาของตนเอง

ตัวอย่างวรรณกรรมสองชิ้นที่ถูกเซ็นเซอร์ภายใต้รัฐบาลฟรังโกได้แก่ เรื่อง Across into the Trees ของ Ernest Hemingway คำว่า “Franco” ถูกตัดออกจากวลี “General Fat-Ass Franco” ในฉบับแปลภาษาสเปน อีกเรื่องคือ The Spanish Earth ของ Hemmingway อีกเช่นกัน

ส่วนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสเปน การพากย์เสียงถูกใช้เป็นเครื่องมือปลุกปั่นความรู้สึกชาตินิยม มีการบังคับ สร้างมาตรฐาน กำหนดลักษณะพึงประสงค์ให้ภาษาประจำชาติ ยกตัวอย่างเช่น เสียงต้นฉบับในภาพยนต์ถูกตัดออก ภาษาต่างประเทศถูกห้ามเด็ดขาด เพราะรัฐบาลนายพลฟรังโก ต้องการกำจัดอิทธิพลต่างชาติ และสร้างภาพว่าภาพยนตร์ต่างประเทศที่ผ่านการเซ็นเซอร์ถ่ายทำในสเปน โดยใช้มาตรฐานแบบสเปนของนายพลฟรังโก
ภาพยนตร์ตลกถูกกำหนดมาตรฐานความขำขัน ภาพยนตร์ตลกสองเรื่องที่ผลิตโดย Billy Wilder ชื่อ The Apartment และ Some Like It Hot ภาพยนต์ตลกทั้งสองประสบความสำเร็จอย่างสูงในอเมริกา แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ลักษณะตัวละครในภาพยนตร์นี้มีพฤติกรรมรักนอกสมรส มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย และเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องต้องห้ามและต้องถูกตัดออก มีมุขตลกจำนวนมากถูกตัดทิ้งหรือไม่ก็ถูกแก้ไขเพราะเห็นว่าขัดกับศีลธรรมหรือไม่ก็ไร้ศีลธรรม

สเปนในยุคนายพลฟรังโก มีนโยบายตั้งตัวเป็นศัตรูกับวัฒนธรรมต่างชาติเท่านั้น นั่นแปลว่า นโยบายของนายพลฟรังโก มุ่งเน้นการควบคุมวัฒนธรรมชาติอื่น มากกว่าสร้างวัฒนธรรมของตนเอง ระบบการเซ็นเซอร์มีลักษณะเข้มงวดและมีบทลงโทษรุนแรง เพื่อต่อต้านวัฒนธรรมต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าประเทศ แต่ในที่สุด มาตรการต่างๆของรัฐบาลนายพลฟรังโก ก็ถูกบีบให้คลายความเข้มงวดลง เปิดทางให้กับเสรีภาพในการแสดงออก อำนาจของการเซ็นเซอร์ในสเปนค่อยๆเสื่อมสลายไป พร้อมกับการฟื้นฟูผลงานศิลปะ
บทสรุป

การแปลไม่ว่าในรูปแบบไหน มักเป็นที่ปะทะสังสรรค์กันของอำนาจของคนหลายกลุ่ม และการปรับแก้บิดเบือนงานแปลก็ทำด้วยหลายเหตุผล ตั้งแต่อยากประหยัดเงินไปจนถึงความต้องการควบคุมพฤติกรรม ตั้งแต่ความต้องการให้ปฏิบัติตามแบบแผนดั้งเดิมไปจนถึงความต้องการสถาปนาอำนาจทางวัฒนธรรม เมื่อการแปลถูกกีดกันไม่ให้แสดงออกอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา แต่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของความรุนแรง เช่นการเซ็นเซอร์ ผลสะเทือนทั้งในมิติทางวัฒนธรรมและศีลธรรมจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่นำเสนอไปแล้วเป็นตัวอย่างของการแปลในสภาพสังคมที่คลั่งไคล้ลัทธิชาตินิยม ณ ที่นั้น การแปลถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม และการเซ็นเซอร์ก็เป็นวิธีแก้ไข ที่เชื่อว่าสามารถป้องกันการรุกรานและการปนเปื้อนของวัฒนธรรมต่างชาติ

ไม่มีความคิดเห็น: